ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

ไพลิน Sapphire


pilin


ซัฟไฟร์หรือไพลิน เป็นพลอยที่มีสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะน้ำเงินเข้ม น้ำเงินอมม่วง น้ำเงินอมฟ้า แต่ถ้าเป็นพลอยซัฟไฟร์ ในตระกูลคอลันดัมแต่มีสีอื่นก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ซัฟไฟร์เหลือง(Yellow Sapphire) พิ้งค์ ซัฟไฟร์ (Pink Sapphire) ซัฟไฟร์เขียว (Green Sapphire) แต่ถ้าเป็นสีแดงจะมีชื่อเฉพาะ คือ ทับทิม (Ruby)

ตระกูลแร่
ไพลินเป็นพลอยที่อยู่ในตรกูลเดียวกับทับทิม  คือตระกูลคอรันดัม(Corundum โครงสร้างผลึกอยู่ในระบบฐานสามเหลี่ยม (Trigonal system) ดังนั้นคุณสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี และทางแสง ของไพลินจึงเหมือนกับทับทิม

คุณสมบัติทั่วไป
อันดับความแข็ง 9 โมห์สเกล ค่าดัชนีหักเห 1.76-1.77 ค่าความถ่วงจำเพาะ 4.0

คุณสมบัติเฉพาะตัว
สีน้ำเงินของไพลินมาจากธาตุเหล็ก และธาตุไททาเนียม ที่เข้ามาแทนที่ธาตุอลูมิเนียมในโครงสร้าง การถ่ายเทประจุระหว่างธาตุเหล็กและธาตุไททาเนียม  เพื่อรักษาความสมดุลของประจุให้เป็นเช่นเดียวกับประจุของธาตุอะลูมิเนียม ทำให้โครงสร้างสะท้อนแสงสีน้ำเงินออกมา ส่วนใหญ่จะเจียระไนหน้าเหลี่ยมเกสรรูปต่างๆ เช่น รูปรี รูปไข่ รูปหัวใจ แต่ถ้าเป็นชนิดเนื้อขุ่น เช่น กินบ่เซี้ยง จะเจียระไนเป็นรูปหลังเบี้ย(Cabochon) ถ้าเนื้อขุ่นจนทึบจะนำไปแกะสลัก
 
ความเชื่อ
ไพลินถูกยกย่องให้เป็นพลอยแห่งอำนาจและบารมี ข้าราชการไทยสมัยก่อนจะนิยมส่วมใส่เพื่อเสริมบารมีให้กับตนเอง ชาวเปอร์เซียโบราณมีความเชื่อว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ตั้งอยู่บนแซฟไฟร์ขนาดใหญ่ เมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงมากระทบกับโลก จึงสะท้อนแสงสีน้ำเงิน ตามตำนานแถวยุโรป เชื่อว่าแซฟไฟร์มีพลังอำนาจในเรื่องการคุ้มครองชีวิตให้สงบสุข และสามารถป้องกันภัยร้ายต่างๆ ไพลินเป็นอัญมณีประจำเดือนกันยายน
 
การดูแลรักษา
เช่นเดียวกับพลอยชนิดอื่นๆ คือเป็นอัญมณีที่แข็งแกร่งก็จริง แต่ก็มีความเปราะ ฉะนั้นควรระวังเรื่องการกระทบกระแทก หลีกเลี่ยงการล้างด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิค(Ultrasonic)
 
การปรับปรุงคุณภาพเพชร
การซ่านสี(Diffusion) เพื่อให้ได้สีที่สวยงามหรือเพื่อให้ได้สตาร์ การเผา เพื่อปรับเปลี่ยนสี การอุดด้วยแก้ว หรือวัสดุอื่นๆเพื่อให้เนื้อโปร่งใสขึ้น

การสังเคราะห์
ส่วนใหญ่ไพลินจะถูกสังเคราะห์โดยผ่านกรรมวิธีเวอร์นุยล์(Verneuil Method) ซึ่งเป็นการโปรยผงอะลูมิน่าผสมกับธาตุให้สี ผ่านเปลวไฟอุณภูมิสูงจนผงอะลูมิน่าหลอมเหลว แล้วให้ตกผลึกแบบแท่นหมุน

วิธีการตรวจสอบ
การตรวจสอบไพลินนั้น ต้องสังเกตุเส้นโค้งในเนื้อพลอย ซึ่งต้องดูจากเลนส์ที่มีกำลังขยาย 30 เท่าและต้องวางพลอยให้ถูกทิศ นอกจากเส้นโค้งแล้วควรสังเกตุสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ เช่น เศษโลหะ หรือฟองอากาศขนาดเล็ก

อัญมณีเทียบเคียง
พลอยธรรมชาติที่คล้ายไพลินมีไม่กี่ชนิด เช่น แทนซาไนต์ และไอโอไลต์ ซึ่งพลอยทั้งสองชนิดนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไรนัก ส่วนนอกจากนี้ก็จะเป็นพลอยปะ ซึ่งเป็นการใช้พลอยชนิดเนื้อใส ไม่มีสี และราคาถูกกว่า เช่น ควอตซ์ โทปาซ ซัฟไฟร์สีขาว หรือแก้วใสๆ ปะด้านบน ส่วนด้านล่างใช้แผ่นแก้วสีน้ำเงินเข้ม หรือแผ่นไพลินบางๆ พลอยปะเหล่านี้จะคล้ายกับไพลินธรรมชาติมาก โดยเฉพาะถ้าใช้เนื้อพลอยปะด้านบน เพราะคุณสมบัติรวมทั้งมลทินที่เห็น เป็นเช่นเดียวกับไพลินธรรมชาติทุกอย่าง การตรวจสอบพลอยปะจะทำได้ง่ายถ้ายังไม่มีตัวเรือน โดยจุ่มพลอยลงในน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันกานพลู จะทำให้สามารถมองเห็นรอยปะได้อย่างชัดจน