ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

การเลือกซื้อทับทิม

 

tubtim



ทับทิมโดยธรรมชาตินั้นมักมีเนื้อขุ่น ตำหนิมาก บางชิ้นทึบแสงดูไม่สวยงาม ทับทิมในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงผ่านการเพิ่มคุณภาพด้วยความร้อนมาแทบทั้งสิ้น ทำให้สีของพลอยทับทิมงดงามมากยิ่งขึ้น รวมท้ังช่วยละปริมาณตำหนิภายในที่เด่นชัดลงได้ 

การเลือกซื้อพลอยทับทิม หลักๆแล้วควรเลือกเม็ดพลอยที่มีสีสดเข้ม หรือขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้สวมใส่ ไม่ควรมืดดำ สีสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด เห็นตำหนิภายในได้แต่ต้องไม่มาก หรือไม่เป็นตำหนิที่มีสีแตกต่างจากสีของพลอยมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นตำหนิที่เป็นฝ้าขาว สีเหลือบ ผลึกขาวขุ่นและผลึกสีดำ ไม่มีตำหนิที่ผิวของพลอย โดยเฉพาะที่ด้านหน้าพลอย มีการเจียระไนที่ได้รูปทรงเพื่อให้เกิดประกายแสงที่สวยงาม 

ในการเลือกซื้อพลอยทับทิม จึงควรสอบถามผู้ขายว่าเป็นทับทิมจากแหล่งใด (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมในบทความที่มีชื่อว่า “คุณภาพของทับทิม (Ruby) จากแหล่งที่มา” ) เผาหรือไม่เผา และเผาแบบใด เป็นต้น

หลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อพลอยทับทิมเหลี่ยมเจียระไน

ควรเลือกทับทิมที่มีสีแดงก่ำ แดงสดใส ไม่มืดคล้ำ หรืออาจเลือกเป็นสีชมพูหวานใสก็ได้ตามความชอบ เนื้อพลอยควรใส ไม่ขุ่นไม่ทึบ มีความวาวฉ่ำเหมือนมีน้ำอยู่ภายใน รูปร่างของพลอยสมส่วน มีสัดส่วนที่พอเหมาะทั้งหน้าพลอยและก้นพลอย ก้นไม่ลึกหรือตื้นจนเกินไป อันส่งผลให้ทับทิมมีประกายไฟงดงาม และหากใช้กล้องขยายส่องดูเนื้อพลอย ทับทิมที่มีคุณภาพดีไม่ควรมีริ้วรอยภายในที่ดูแตกร้าวเพราะจะทำให้เสียคุณค่า

หลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อพลอยทับทิมเจียระไนแบบหลังเบี้ย มีสตาร์

ทับทิมอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นั่นก็คือ ทับทิมหลังเบี้ยและมีสตาร์ หรือมีรูปดาว 6 แฉกอยู่บนพลอยเม็ดนั้น ความงามของทับทิมชนิดนี้อยู่ที่ขาทั้ง 6 ต้องคมชัด ความยาวจรดสองข้างของพลอย มีจุดตัดของทุกขาอยู่ตรงกลางพลอยพอดี และเมื่อต้องกับแสงไฟ ขาทั้ง 6 จะเกลือกลิ้งไปมาได้อย่างสวยงาม

หลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อพลอยทับทิมเจียระไนแบบหลังเบี้ย หรือหลังเต่า

สีพลอยที่ควรเลือกนั้นมีหลักเกณฑ์เดียวกันกับการเลือกทับทิมเหลี่ยมเจียระไน คือ มีสีแดงสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด รูปทรงของเม็ดพลอย ควรโค้งนูนงามได้สัดส่วน ไม่แบนราบจนเกินไป เนื้อพลอยเรียบงามตลอดทั้งเม็ด ไม่มีริ้วรอยแตกร้าว และเมื่อนำไฟฉายขนาดเล็กส่องเข้ามาใต้ก้นพลอย จะเห็นความโปร่งใสของเนื้อพลอย ถ้ามีริ้วรอยแตกก็จะเห็นได้ชัดเจนอีกด้วย ถ้าแสงจากไฟฉายลอดเข้าไปในเนื้อพลอยได้มาก ก็แสดงว่าพลอยเม็ดนั้นมีเนื้อที่ค่อนข้างโปร่งใส ซึ่งเมื่อนำมาทำเครื่องประดับก็จะดูฉ่ำงดงาม

ข้อมูลเพิ่มเติม เนื้อพลอยหลังเบี้ยจะมีชื่อเรียกที่ต่างกันอยู่ 3 แบบดังนี้

*เนื้อแก้ว เนื้อพลอยจะใสคล้ายแก้ว

*เนื้อแพร เนื้อพลอยจะมีความขุ่นมากกว่าเนื้อแก้ว (ราคาถูกกว่าเนื้อแก้ว)

*เนื้อเทียน เนื้อพลอยจะขุ่นทึบมากกว่าเนื้อแพร แต่ยังดูมีประกายวาวแววอยู่บ้าง (เนื้อเทียนราคาถูกกว่าเนื้อแพร) ส่วนเนื้อพลอยทับทิมที่ทึบมากจนแสงส่องไม่ทะลุ นั้นความงดงามย่อมจะสู้พลอยเนื้อแก้วหรือเนื้อแพรไม่ได้ (เนื้อทึบราคาถูกที่สุด)

หากไม่ใช้ไฟฉายส่องดูเนื้อพลอยแล้วนั้น อีกหนึ่งวิธีที่สามารถตรวจสอบเนื้อพลอยได้ นั่นคือ การหยิบพลอยเม็ดนั้นขึ้นส่องดูกับแสงแดด ธรรมชาติของพลอยทับทิมนั้นมักจะมีตำหนิริ้วรอยในเนื้อเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับมรกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอยทับทิมพม่าที่แทบจะหาเนื้อพลอยที่สะอาดได้ยากเหลือเกิน  ดังนั้นเรื่องการดูความใสของเนื้อพลอยอาจจะมีข้อยกเว้นบ้าง โดยพิจารณาดูว่า เนื้อพลอยภายในนั้นอาจมีรอยตำหนิได้บ้าง แต่ไม่ใช่แตกร้าวเป็นแนวยาว หรือแตกร้าวจนขึ้นมาถึงหน้าพลอย เพราะต่อไปนี้เมื่อใช้สอยไปนาน ๆ เนื้อพลอยอาจแตกร้าวมากขึ้น จนแตกออกไปในที่สุด

เครดิต จาก LenYa Jewelry