ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

โรคแพ้เครื่องประดับ

 

kmli

ภัยที่คุณคาดไม่ถึง เคยสงสัยมั้ยว่า คุณเป็นผู้หนึ่งที่มีอาการแพ้เครื่องประดับโดยไม่รู้ตัว  สาวๆ ที่รักสวยรักงาม ก้าวติดเทรนด์แฟชั่นไม่มีถอย คงไม่รู้หรอกว่าเครื่องประดับสวยๆ ที่ช่วยให้คุณเป็นสาวสวยยิ่งขึ้นหรือเปรี้ยวจี๊ดจนเข็ดฟันตามแฟชั่นนิยม อาจลอบทำร้ายผิวคุณได้อย่างนึกไม่ถึง เช่น ตุ้มหู สร้อย กรอบเลี่ยมพระ แหวน และกำไลข้อมือ เป็นต้น ไม่เพียงเครื่องประดับเหล่านี้ ยังมีสิ่งอื่นๆ ใกล้ตัวที่คุณอาจนึกไม่ถึง เช่น กระดุมกางเกงยีนส์ ซิป เข็มขัด ตะขอชุด ชั้นใน ที่ดัดขนตา สายนาฬิกา อาการแพ้ก็คือ ผิวเป็นผื่นแดงและคัน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง  รู้มั้ยว่าศัตรูตัวสำคัญที่ทำร้ายผิวคุณได้คือ นิกเกิล ซึ่งมองๆ ดูแล้วไม่น่ามีพิษสงเสียเลย ก็แค่โลหะธรรมดาที่ปะปนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่ได้นึกถึง เช่น หม้อหุงต้ม ลูกบิด ประตู เหรียญสตางค์ แม้แต่ในอาหารและในน้ำก๊อกก็อาจมีสารนิกเกิลปะปนอยู่ด้วย และบางคนก็อาจจะแพ้ทองคำได้เหมือนกัน

 

 

แพ้เครื่องประดับที่ทำจากนิกเกิล

สารเคมีอย่างนิกเกิลมักทำให้ผิวหนังเกิดการอักเสบได้เมื่อมีการสัมผัสโดย 1ใน 5 ของผู้หญิงมักแพ้สารที่ว่านี้ และผื่นแพ้จากนิกเกิลมักเกิดบริเวณที่สัมผัสกับเครื่องประดับ เช่น ที่ติ่งหู คอ ข้อมือ หรือหน้าอก จะมีอาการเป็นผื่นแดง และอาจเป็นสะเก็ดที่หนังตาบน เนื่องจากสารนิกเกิลติดมือที่ชื่นเหงื่อแล้วไปถูกหนังตา บางคนอาจเป็นผื่นลามไปทั่วตัว หรืออาจเป็นแค่เฉพาะที่ก็ได้

นพ. นิยม ตันติคุณ แพทย์ผิวหนังจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งกล่าวว่า " มีผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนังที่มีอาการผื่นแดงและคันอันเกิดจากการสวมใส่เครื่องประดับที่ทำมาจากนิกเกิลมากขึ้น คุณหมอแนะนำว่า หลังการเจาะหูควรรอให้แผลแห้งสัก 3 สัปดาห์ จึงใส่เครื่องประดับตามแฟชั่นได้ มิเช่นนั้นรอยแผลที่เกิดจากการเจาะหูจะเกิดการอักเสบขึ้นได้ และหลังจากเจาะหูใหม่ๆ คุณควรจะเลือกตุ้มหูที่ปราศจากสารนิกเกิลจะดีที่สุด"

แพ้เครื่องประดับที่ทำจากทอง

 

นอกจากนิกเกิลจะก่อให้เกิดการแพ้ได้แล้ว เครื่องประดับอื่นๆ ก็ทำให้ผิวหนังมีปัญหาได้เหมือนกัน เช่น ทอง เงิน ทองแดง เพราะการนำทองมาทำเครื่องประดับนั้นจำเป็นต้องผสมกับโลหะที่จะทำให้ทองแข็งตัว หากเป็นทองบริสุทธิ์ ก็มีความอ่อนเกินกว่าที่จะนำมาทำเป็นตัวเรือนหุ้มเพชรพลอยได้ แต่ถ้านำนิกเกิลมาเป็นส่วนผสมก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนังได้เหมือนกัน (นิกเกิลมีราคาถูกและทำให้เครื่องประดับไม่ดำ ) แต่ถ้าหากเป็นทองที่มีคุณภาพดี ก็จะมีส่วนผสมของนิกเกิลเป็นจำนวนไม่มาก หรือบางคนก็อาจมีอาการแพ้ทองได้เหมือนกัน ถ้าหากสงสัยว่า คุณมีอาการโรคภูมิแพ้เครื่องประดับละก็ ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการทดสอบผิวหนังด้วยแผ่นพลาสเตอร์ทดสอบ เพราะไม่เจ็บไม่ปวดแต่อย่างใด เพื่อความมั่นใจคุณแพ้สารนิกเกิลจริงหรืไม่ จะได้หลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองได้ สาวๆ มากมายที่ไม่รู้ว่าเทรนด์แฟชั่นเครื่องประดับที่กำลังฮิตกันอยู่นั่นมีสารนิกเกิลตัวร้อยแอบแฝงอยู่ด้วยไม่ใช่เฉพาะแต่ในเครื่องประดับเท่านั้น แต่ยังแฝงอยู่ที่ตะขอชุดชั้นใน กระดุมกางเกง ที่หนีบผม ฯลฯ

 

การป้องกัน

หากรู้ตัวว่าคุณแพ้สารนิกเกิล ก็ควรหลีกเลี่ยงสารเหล่านี้

- อย่าแตะต้องเครื่องประดับที่มีส่วนผสมของนิกเกิล แม้ว่าจะการเคลือบป้องกันก็ตามเพราะพอใช้ไปนานวันเข้า สารที่เคลือบไว้ก็จะหลุดลอกออกและปลอดปล่อยสารนิกเกิลออกมาโจมตีผิวคุณโดยไม่รู้ตัว

- เครื่องประดับสวยงามราคาถูกส่วนมากมักไม่ได้เคลือบสารป้องกันสารนิกเกิลไว้ ให้พยายามเลือกเครื่องประดับสแตนเลสที่ปราศจากสารนิกเกิลซึ่งมีขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วๆไป

- หลีกเลี่ยงการใช้หม้อหุงต้มที่ทำจากสแตนเลสและเครื่องต้มกาแฟที่มีตัวฟิลเตอร์เป็นโลหะแต่ควรเลือกใช้ภาชนะที่ทำมาจากแก้ว เครื่องเคลือบดินเผา หรือพลาสติกจะดีกว่า

- ไม่ควรกินอาหารกระป๋อง

-ควรสวมใส่ถุงมือเมื่อต้องใช้มือนับเหรียญ (แคชเชียร์) คีม ไขควง และตะปู

- ใช้ครีมที่มีสาร "คอติโซน" เพื่อไปหยุดชะงักระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ทำการต่อต้านมากนัก อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ควรทาเพียงบางๆ เท่านั้น

- นอกจากทาครีมแล้ว ให้ใช้ผ้าเย็นๆ มาประคบอีกที

-ทาครีมสเตียรอยด์ ซึ่งตัวยาจะเข้มข้นมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพ้ หากเป็นที่ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า ซึ่งมีผิวหนากว่าบริเวณอื่นก็ต้องใช้ตัวยาที่เข้มข้นมากกว่าการใช้ในบริเวณที่ผิวบอบบาง

- หากเป็นมากควรไปพบแพทย์ผิวหนัง

 

โรคภูมิแพ้ที่เกิดจากสารนิกเกิลเป็นโรคเรื้อรัง ยากแก่การรักษาให้หายขาด นอกจากต้องหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้แพ้เท่านั้น แต่เมื่อคุณไม่อาจทิ้งแฟชั่นความสวยความงามได้ ก็ขอแนะนำให้ใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกแทน

 เกร็ดความรู้

หากคุณต้องการซื้อเครื่องประดับใหม่ควรถามช่างทองหรือคนขายถึงส่วนผสมและการบัดกรี เพราะโดยส่วนมากแล้วมักมีการระบุจำนวนเปอร์เซ็นต์ของทอง แต่ไม่บอกถึงประเภทของโลหะที่นำมาเป็นส่วนผสม หรือหากคุณสั่งทำเครื่องประดับก็ให้ระบุประเภทของส่วนผสมกับช่างทำทองไว้ล่วงหน้าก็ได้

การทดสอบเครื่องประดับที่ทำจากโลหะสามารถทดสอบได้ว่ามีส่วนผสมของนิกเกิลหรือไม่ โดยใช้น้ำยา Dimethylglyoxime หยดลงที่เครื่องประดับ หากมีสารนิกเกิลน้ำยาจะเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่น้ำยาตัวนี้มีขายเฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น

ใช้ยาทาเล็บชนิดใสทาทับ เช่น ตุ้มหู กระดุม แหวน ตะขอเสื้อใน ก้านแว่นตา ที่เหน็บผม ฯลฯ เพื่อป้องกันสารนิกเกิลละลายเมื่อเจอความชื่นจากเหงื่อ แต่ต้องทาบ่อยๆ เพราะยาทาเล็บจะหลุดลอกออกมาได้ง่าย