ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

การหุงพลอย (Heat Treatment)

 

maxresdefault

 

การหุงพลอยหรือการเผาพลอย เป็นกรรมวิธีการเพิ่มมูลค่าให้อัญมณีด้วยการใช้ความร้อน วิธีการนี้นิยมใช้กับพลอยตระกูลคอรันดัมได้แก่ ทับทิม ไพลิน บุษราคัมและพลอยเนื้ออ่อนชนิดต่างๆ การหุงพลอยจะช่วยทำให้ได้พลอยที่มีสีตรงกับคุณสมบัติของพลอยที่ดี ซึ่งอาจมีสีเข้มขึ้นหรือจางลงจากสีเดิมหรืออาจช่วยกระจายสีให้ดูกลมกลืนสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ดพลอยอีกทั้งยังทำให้พลอยใสสะอาดขึ้น

ดังนั้นการหุงพลอยจึงเป็นกรรมวิธีที่ทำให้พลอยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและได้รับการยอมรับในตลาด อัญมณีทั่วโลกโดยไม่ถือว่าเป็นการทำเทียมหรือขายของปลอมให้แก่ผู้ซื้อ เพราะเป็นการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วในเนื้อพลอยธรรมชาติให้มีคุณค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น

อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการหุงพลอย 

  1. เตาเผาพลอย ปัจจุบันที่นิยมใช้มีหลากหลายชนิดตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพงได้แก่ เตาไฟฟ้า เตาแก๊ส เตาน้ำมันเป็นต้น แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือเตาไฟฟ้า เนื่องจากผู้ใช้สามารถควบคุมระดับความร้อนให้สม่ำเสมอตามเวลาที่ต้องการได้
  2. เบ้าทนไฟ "เบ้า" มีรูปร่างคล้ายถ้วย มีฝาปิดได้สนิท ในปัจจุบันมีจำหน่ายแบบสำเร็จรูป สามารถซื้อเบ้าสำเร็จรูปมาใช้ได้ทันที

กรรมวิธีในการหุง(เผา)พลอย

  1. นำพลอยที่ต้องการเผาใส่ลงในเบ้า จากนั้นปิดฝาเบ้าให้สนิทแล้วใช้น้ำยาเคลือบ ทาเคลือบทับบริเวณฝาปิดเพื่อป้องกันความร้อนรั่วออกมา
  2. ใส่เบ้าพลอยลงในเตาเผา
  3. ให้ความร้อน พลอยแต่ละชนิดจะใช้ความร้อนแตกต่างกัน ซึ่งการใช้ความร้อนจะสูงหรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับ ขนาด ชนิด สีที่ต้องการและแหล่งที่มาของพลอยเหล่านั้น เช่น ต้องการให้พลอยมีสีเข้มหรืออ่อนลง ระดับความร้อนที่ใช้กันอยู่มีตั้งแต่ระดับไม่ถึง 1000 องศาเซลเซียสไปจนถึง 1900 องศาเซลเซียส หรืออาจเกิน 2000 องศาเซลเซียส ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์และเทคนิคของผู้เผา เพราะหากระดับความร้อนสูงเกินไปอาจทำให้พลอยที่เผาแตกหักหรือละลายได้
  4. ระยะเวลาในการเผา ในการเผาพลอยบางชนิดอาจใช้ระยะเวลาเพียง 6 ถึง 10 ชั่วโมง แต่บางชนิดอาจใช้เวลาเผา 4 ถึง 5 วัน ภายในเตาเผาพลอยจะต้องได้รับความร้อนอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะการเผา ดังนั้นจึงต้องหาทางป้องกันไฟฟ้าดับระหว่างการเผาไว้ด้วย หรือป้องกันระดับความร้อนให้คงที่ในกรณีที่ใช้เตาเผาแบบอื่นที่ไม่ใช่เตาไฟฟ้า
  5. ปล่อยให้เตาเผาและเบ้าเย็นสนิท หลังจากที่เตาเผาและเบ้าเย็นสนิทแล้วจึงจะสามารถเปิดเบ้าออกได้ เพราะอุณหภูมิที่ต่างกันมากระหว่างภายในเตาเผากับอากาศภายนอก อาจมีผลกระทบกับพลอยเหล่านั้นได้
  6. พลอยที่ผ่านการเผาด้วยความร้อนนั้น สีและคุณสมบัติ ความสวยงามจะคงอยู่ตลอดไป คุณสามารถนำไปเจียระไนเพื่อทำเครื่องประดับได้ทันที

การประเมินคุณค่าและราคาของอัญมณี
การประเมินคุณค่าและราคาของอัญมณีขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ คือ สี ความใสสะอาด การเจียระไน และน้ำหนักกะรัต การเผาพลอยนั้นสามารถเพิ่มคุณค่าตามหลักที่ใช้ประเมินราคาที่สำคัญได้ 2 ประการคือ สีและความใสสะอาด

  • สี การเผาพลอยจะช่วยทำให้ได้พลอยที่สีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงจากสีเดิม การใช้ความร้อนในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ธาตุต่าง ๆในเนื้อพลอยจะมีการจัดเรียงตัวใหม่ จึงทำให้เนื้อพลอยเปลี่ยนสีไปอย่างถาวร
  • ความใสสะอาด การหุงพลอยจะช่วยให้เนื้อพลอยมีความใสสะอาดเพิ่มขึ้น โดยปกติการหุงพลอยไม่จำเป็นต้องใส่สารเคมีใดๆ ลงไป เนื่องจากความร้อนจะเป็นตัวทำให้ธาตุที่อยู่ในเนื้อพลอยเรียงตัวใหม่อย่างเป็นระเบียบ พลอยที่ได้จึงใสสะอาดขึ้น ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการหุงพลอยที่สำคัญ ได้แก่
  1. สภาวะบรรยากาศของการเผา
  2. อุณหภูมิสูงสุดในการเผา
  3. ระยะเวลาที่ใช้อุณหภูมิสูงสุด
  4. อัตราการให้ความร้อนในแต่ละช่วงอุณหภูมิ
  5. อัตราการเย็นตัวในแต่ละช่วงอุณหภูมิและการคงระดับความร้อน ณ อุณหภูมิใดๆ
  6. ธรรมชาติของวัตถุหรือสารเคมีที่สัมผัสกับเม็ดพลอย
  7. ความดันบรรยากาศ