ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

การฝังอัญมณีแบบต่างๆ

fang

การฝังอัญมณีแบบต่างๆ
การฝังอัญมณีในตัวเรือนเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำเครื่องประดับค่ะ ลักษณะการฝังอัญมณีมีหลายแบบด้วยกัน ซึ่งแต่ละแบบก็ทำให้เครื่องประดับนั้นมีสไตล์และดีไซน์ที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของการฝังอัญมณีก็คือ ทำให้อัญมณียึดติดกับตัวเรือนโลหะ ไม่ว่าจะเป็น เงิน ทอง ทองคำขาว หรือแพลททินั่ม เรามาดูกันค่ะว่าการฝังอัญมณีมีรูปแบบใดบ้าง
1. การฝังหนามเตย (Prong Setting)
การฝังแบบหนามเตยเป็นการฝังที่ได้รับความนิยมมาก มีลักษณะเป็นก้านต่ออยู่กับกระเปาะที่ประคองอัญมณีไว้ ส่วนปลายของหนามเตยแต่ละอันจะโค้งเข้าหากันและเกาะติดกับขอบของอัญมณี จำนวนขาของหนามเตยที่นิยมมักมี 3 ขา 4 ขา หรือ 6 ขา หรืออาจมีมากกว่าแล้วแต่ดีไซน์ของเครื่องประดับ นอกจากหนามเตยจะมีแบบกลมแล้ว ยังมีลักษณะหนามเตยแบบสามเหลี่ยมที่เรียกว่า หัวเรือ เพื่อไว้ใช้ฝังอัญมณีรูปร่างที่มีมุม เช่น มาคีส์ หยดน้ำ สี่เหลี่ยม
ข้อดี การฝังแบบหนามเตยทำให้อัญมณีส่องประกายได้ชัดเจน เนื่องจากแสงผ่านเข้าไปในอัญมณีได้ง่าย และเนื่องจากตัวเรือนมีความโปร่ง สามารถทำความสะอาดได้ง่ายเช่นกัน
ข้อเสีย การฝังแบบหนามเตยจะไม่ได้หุ้มขอบอัญมณีทั้งหมด เมื่อมีการกระทบกระทั่งบ่อยๆ อาจทำให้ขอบของอัญมณีบิ่นได้ อีกทั้งตัวหนามเตยอาจเกี่ยวเสื้อผ้าหรือเส้นผมของเราได้ง่าย
2. การฝังหุ้ม (Bezel Setting)
การฝังหุ้มเป็นการใช้เนื้อโลหะที่อยู่สูงกว่าขอบอัญมณี ฝังหุ้มขอบอัญมณีไว้โดยรอบ การฝังแบบนี้เป็นการฝังที่ได้รับความนิยมมากเช่นกันค่ะ
ข้อดี เนื่องจากอัญมณีถูกหุ้มขอบด้วยโลหะ การฝังแบบนี้จึงมีความแข็งแรง และป้องกันการกระทบกระทั่งของอัญมณีได้ดี นอกจากนี้ ยังทำให้อัญมณีที่มีขนาดเล็ก ดูใหญ่ขึ้นกว่าความเป็นจริงอีกด้วย
ข้อเสีย การฝังหุ้มทำให้แสงผ่านเข้าไปได้น้อย จึงทำให้ประกายของอัญมณีไม่ดีเท่ากับการฝังหนามเตย 
3. การฝังล็อคหรือฝังสอด (Channel Setting)
เป็นการฝังอัญมณีแบบเป็นแถว อัญมณีจะเรียงกันเป็นแนวยาวโดยไม่มีโลหะกั้นระหว่างอัญมณี แต่จะมีขอบของโลหะที่ขนานกันเป็นตัวล็อคอัญมณีเอาไว้ค่ะ
ข้อดี ขอบของอัญมณีจะถูกหุ้มด้วยโลหะ จึงป้องกันการกระทบกระทั่งได้ดี
ข้อเสีย การฝังแบบนี้ต้องใช้ความแม่นยำในการฝัง และช่างต้องมีความชำนาญ หากฝังอัญมณีไม่แน่นหนาจะทำให้อัญมณีหลุดได้ง่าย รวมถึงการแก้ขนาดแหวน การขยายหรือลดขนาดจะทำให้อัญมณีหลุดออกได้ง่าย
4.การฝังจิกไข่ปลา (Pave Setting)
การฝังแบบจิกไข่ปลาจะใช้อัญมณีขนาดเล็กฝังเรียงกันเป็นแพ ซึ่งอัญมณีแต่ละเม็ดจะถูกยึดโดยมีการตักเนื้อโลหะที่อยู่รอบๆอัญมณี ปั่นเป็นก้อนกลมเหมือนไข่ปลา และยึดกับตัวอัญมณีเอาไว้ ปกติไข่ปลาจะมี 4 เม็ด อาจมีมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ค่ะ
ข้อดี การฝังแบบนี้จะทำให้อัญมณีดูระยิบระยับ โดยเฉพาะเพชรจะดูประกายแวววาว 
ข้อเสีย อัญมณีสามารถหลุดออกจากตัวเรือนได้ง่ายกว่าการฝังแบบหนามเตย สาเหตุอาจเกิดจากการทำตัวไข่ปลาหนีบอัญมณีได้ไม่ไดี ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างฝังด้วย
5. การฝังเหยียบหน้าหรือฝังจม (Flush Setting)
เป็นการฝังที่คล้ายกับการฝังหุ้ม แต่เป็นการฝังจมลงไปในเนื้อโลหะ ไม่เห็นกระเปาะของตัวเรือน อัญมณีจะถูกฝังลงไปในรูที่มีขนาดเท่ากับอัญมณี และถูกล็อคด้วยเนื้อโลหะรอบๆ หน้าอัญมณีจะเสมอกับตัวเรือน
ข้อดี ขอบของอัญมณีจะถูกหุ้มด้วยโลหะ และหน้าอัญมณีจะเรียบไปกับตัวเรือน จึงป้องกันการกระทบกระทั่งและขูดขีดของอัญมณีได้ดี
ข้อเสีย เป็นการฝังที่ต้องใช้แรงกดลงไป เสี่ยงต่อการทำอัญมณีแตก ช่างฝังจึงต้องมีความระมัดระวัง 
6. การฝังหนีบ (Tension Setting)
การฝังแบบหนีบจะใช้แรงดันจากโลหะทั้งสองด้านในการยึดอัญมณีเอาไว้ โดยมีร่องเล็กๆยึดอยู่กับขอบของอัญมณี ดังนั้นโลหะที่ใช้ควรมีความแข็ง จึงนิยมฝังอัญมณีแบบนี้กับโลหะแพลททินั่ม ซึ่งมีความแข็งกว่าทองค่ะ
ข้อดี หน้าอัญมณีจะเรียบไปกับตัวเรือน จึงมีความเสี่ยงน้อยต่อการขูดขีดเป็นรอย
ข้อเสีย การฝังแบบหนีบ จะมีบางส่วนของอัญมณีที่ไม่ได้หุ้มขอบ จึงเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งได้ง่าย
7. การฝังไร้หนาม (Invisible Setting)
การฝังแบบไร้หนามมักใช้อัญมณีที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยม โดยตัวเรือนโลหะจะมีลักษณะเหมือนตาข่ายไว้รองรับอัญมณีแต่ละเม็ด และมีโลหะคล้ายใบมีดเป็นตัวล็อคอัญมณี ลักษณะการฝังจึงดูเหมือนตารางและไม่เห็นโลหะระหว่างขอบอัญมณี
ข้อดี หน้าอัญมณีจะเรียบไปกับตัวเรือน จึงมีความเสี่ยงน้อยต่อการขูดขีดเป็นรอย และการกระทบกระทั่ง
ข้อเสีย การฝังไร้หนามจัดว่าเป็นการฝังที่ยากที่สุด หากช่างฝังไม่มีความชำนาญพอ เสี่ยงต่อการทำอัญมณีแตกได้