ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

โลหะมีค่าในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ

loha


หลายพันปีล่วงมาแล้วที่โลหะมีค่าเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ที่มีอารยธรรม เพราะนอกจากจะมีความสวยงามแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ของความมีเสน่ห์และความมั่งมี จากปริมาณที่มีอยู่น้อยและสมบัติทางกายภาพจึงทำให้โลหะกลุ่มนี้มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โลหะมีค่าที่นิยมใช้ในกลุ่มนี้มี 3 ชนิด คือ ทอง เงิน และแพลททินั่ม ซึ่งจุดเด่นของโลหะทั้งสามชนิดนี้ คือ มีความเหนียว สามารถตีเป็นแผ่นบางและดัดโค้งเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ง่าย    
ทองบริสุทธิ์มีสีเหลือง และแวววาว ความบริสุทธิ์ของทองจะขึ้นกับปริมาณธาตุผสมมีหน่วยเป็นกะรัต โดย 1 กะรัตมีค่าประมาณ 4.17 เปอร์เซ็นต์ของโลหะผสมทั้งหมด หมายความว่า ทองบริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์ คือ ทอง 24 กะรัต หรือ ทอง 24 เคนั่นเอง โดยทั่วไปเครื่องประดับที่ทำจากทองจะไม่ใช้ทองบริสุทธิ์ เนื่องจากขาดความแข็งแรง จึงมีการเติมธาตุผสม เช่น ทองแดง นิกเกิล ลงไป สามารถแบ่งชนิดของทองตามสีที่มองเห็นได้ 4 ชนิด คือ ทองชมพู มีส่วนผสมของทองแดงต่อทองบริสุทธิ์เท่ากับ 1 : 3   ส่วนทองขาวที่ผู้คนจำนวนมากมักเข้าใจผิดว่า คือ แพลททินั่ม แต่แท้จริงแล้วทองชนิดนี้จะมีเงิน นิกเกิล สังกะสี หรือแพลททินั่มเป็นธาตุผสม ทองเขียว มีทองแดงและเงินเป็นธาตุผสม และชนิดสุดท้าย คือ ทองน้ำเงิน มีเหล็กเป็นธาตุผสม   
เงินบริสุทธิ์มีสีขาว เป็นมันเงา และมีความอ่อนตัวสูง แต่ผลิตภัณฑ์เงินในอุตสาหกรรมเครื่องประดับยังมีมูลค่าและได้รับความนิยมน้อยกว่าทอง เนื่องจากเกิดความหมองได้ง่าย โดยเฉพาะในบรรยากาศที่มีซัลเฟอร์หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์  โดยทั่วไป เครื่องประดับที่ทำจากเงิน หรือเงินสเตอร์ลิงจะมีส่วนผสมของเนื้อเงินอย่างน้อย 92.5 %  อีก 7.5 % เป็นสารเจือซึ่งมักใช้โลหะทองแดงเป็นธาตุผสมเพื่อเพิ่มสมบัติทางกล 
แพลททินั่ม มีสีขาวและเป็นโลหะที่หายากที่สุดในบรรดาโลหะมีค่า กล่าวกันว่าปริมาณแร่ 10 ตันจะพบแพลททินั่มเพียง 1 ออนซ์ แหล่งผู้ผลิตที่สำคัญ คือ ประเทศแอฟริกาใต้และรัสเซีย สมบัติเด่นของแพลททินั่ม คือ ต้านทานความหมองได้ดี ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้สวมใส่ และมีความทนทานมากกว่าทอง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในรูปบริสุทธิ์ได้ แต่ในบางครั้งก็มีการผสมธาตุอินเดียม หรือ รูทริเรียม เพื่อเพิ่มความแข็งแรง  
การดูแลเครื่องประดับที่ทำจากโลหะมีค่า ควรเก็บรักษาในกล่องผ้าโดยไม่ให้สัมผัสกับโลหะอื่นเพื่อป้องกันการขีดข่วน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี สำหรับเครื่องประดับที่ทำจากเงินต้องเก็บในที่เย็น แห้ง ไม่ให้สัมผัสกับอากาศเพื่อป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น และหลีกเลียงการใช้งานในที่ที่มีแสงไฟหรือแสงอาทิตย์เป็นเวลานาน  ซึ่งการเก็บรักษาและดูแลอย่างถูกวิธีก็จะทำให้เครื่องประดับของท่านมีความคงทนและสวยงามอยู่เสมอ