รัตนชาติในกลุ่มสปิเนล (Spinel)

ชื่อแร่กลุ่มนี้มาจากภาษาเยอรมัน spinell และจากภาษากรีก spintes ซึ่งแปลว่าประกายไฟ สูตรเคมีของแร่ในกลุ่มสปิเนลเป็นดังนี้คือ R2+ R3+ O4
R2+ ตามสูตรนี้สามารถเป็นธาตุต่างๆ ได้หลายอย่าง ซึ่งแต่ละธาตุมีแคตไอออนสองวาเลนซี ดังนี้ คือ แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี เบอริลเลียม แมงกานีส บางทีโคบอลท์ และนิเกิลด้วย ส่วน R3+ ได้แก่ แคตไอออนสามวาเลนซีของธาตุต่อไปนี้คือ อลูมิเนียม, เหล็ก, โครเมียม, และแมงกานีส
บรรดาผลึกสปิเนลชนิดต่างๆ ทั้งหมดเป็นรูป octahedron หรือ rhombic dodecahedron ยกเว้นคริสโซเบอริล และแมงแกนสปิเนลเท่านั้น ซึ่งผลึกของสปิเนลแบบที่ว่านี้บางครั้งเล่นเอาผู้ทำเพชรเทียมงงไปก็มี เพราะว่าบรรดาผลึกของสปิเนลใสๆ และปราศจากสีนั้นมีรูปร่างเหมือนกับเพชรมากทีเดียว สำหรับผลึก
สปิเนลสีสวยๆ ถือว่าเป็นรัตนชาติประเภทสอง ซึ่งในบรรดารัตนชาติดังกล่าวนี้ดีที่สุดได้แก่ พรีเชียสสปิเนล (Mg Al2O4) สีของบรรดาสปิเนลทั้งหลายนั้นมีมากมายหลายสีด้วยกัน เช่นสีแดง สีดอกกุหลาบ สีเขียว สีน้ำเงิน สีม่วงเป็นต้น สีของสปิเนลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับโลหะที่เจือปนอยู่ในผลึกของสปิเนลด้วย คริสโซเบอริลสีเขียวมรกตนั้น เรียกว่า อเล็กซานไดร์ท (Alexandrite) ส่วนสปิเนลใสๆ ปราศจากสีนั้นหายาก และไม่ค่อยพบด้วย จึงมีการทำเทียมกันมาก
ในประเทศเยอรมันตะวันออกทำสปิเนลใสๆ ปราศจากสีได้ดีทีเดียว ซึ่งทำที่โรงงานแห่งหนึ่งใน
บัตเตอร์เฟลด์ สปิเนลชนิดนี้ทำตามวิธีของ verneil โดยใช้แมกนีเซียมออกไซด์ (MgO) ผสมกับอลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 หลอมในเปลวไฟกาซที่ลุกดังลั่นด้วยความร้อน 2,500 องศาเซลเซียส สำหรับสปิเนลสีแดงเข้มนั้น เพราะว่ามีโครเมียมปนอยู่ด้วยเล็กน้อย
คริสโซเบอริล (crisoberilo) และอเล็กซานไดร์ท (Alexandrite)
คริสโซเบอริล (BeAl2O4) ประกอบด้วยอลูมิเนียมออกไซด์ 80.29% และเบอริลเลียมออกไซด์ 19.72% สำหรับตัวที่ให้สีแก่คริสโซเบอริลนั้น ได้แก่ เหล็กออกซไซด์ ซึ่งมีอยู่ 3-5% แต่สำหรับ
คริสโซเบอริลสีเขียวมรกตนั้นมีโครเมียมออกไซด์อยู่ด้วยอีก ส่วนบรรดาผลึกของคริสโซเบอริลใสๆ สีเขียวมรกตนั้น เรียกว่าอเล็กซานไดร์ท ที่ดีก็เพราะว่าเมื่อถูกแสงไฟเปลี่ยนสีได้จากสีเขียวมรกต เป็นสีแดงม่วง ดังมีคำกล่าวไว้ว่า “อเล็กซานไดร์ดนั้น ตอนเช้าสีเขียวตอนบ่ายสีแดง” หินที่ว่านี้ถูกกรดไม่ละลาย ในรัสเซียพบอเล็กซานไดร์ทในเหมือนมรกตที่ภูเขาอูราล คุณค่าและราคาของหินรัตนชาติชนิดนี้ไม่สูงมากจนเกินไปที่พอจะลงทุนสำรวจหาโดยเฉพาะ ดังนั้นการขุดอเล็กซานไดร์ท จึงเป็นแบบ by product กล่าวคือขุดมรกตแล้วได้ อเล็กซานไดร์ทมาโดยบังเอิญ
สำหรับเรื่องที่ว่าอเล็กซานไดร์ทเปลี่ยนสีได้นั้น S.V. Grumgrjimailo แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียต ได้ทำการค้นคว้าหาเหตุของการเปลี่ยนสีได้ ปรากฏว่าที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการที่อเล็กซานไดร์ทปล่อยรังสีแสงสเปกตรัมออกไปไม่เท่ากัน คือแสงที่ส่องไปที่อเล็กซานไดร์ทเวลาจะสะท้อนออกไปไม่เท่ากัน คือกักเอาแสงสีแดง และเขียวไว้ (แสงสเปตตรัมมีเจ็ดสี) ซึ่งทั้งสองสีนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับต้นแสงอีกเช่นกัน ว่าต้นแสงนั้นเป็นแสงธรรมชาติ (แสงอาทิตย์ป หรือแสงไฟ จากการค้นคว้าเรื่องดังกล่าวนั้นก็ปรากฏว่า อเล็กซานไดร์ทมีความไวต่อแสงที่เราส่องดู กล่าวคือถ้าเราเอาอเล็กซานไดร์ทส่องดูโดยอาศัยแสงอาทิตย์ แล้วอเล็กซานไดร์ทก็จะกักเอารังสีแสงสีเขียวน้ำเงินเอาไว้มากกว่าสีอื่นๆ จึงทำให้เรามองเห็นเป็นสีเขียว แต่ถ้าอาศัยแสงไฟส่องดู อเล็กซานไดร์ทจะกักเอาแสงสีแดงไว้มากกว่าแสงสีอื่นๆ ดังนั้น จึงทำให้เราเห็นเป็นสีแดง และถ้าเราส่องดูด้วยแสงเทียนไขธรรมดาอเล็กซานไดร์ทกลับทำให้เราเห็นว่ามีสีแดงเข้มข้นมากขึ้นอีก และแดงเข้มกว่าที่ดูด้วยแสงไฟ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสายใยในหลอดไฟนั้นร้อนมากกว่าไส้เทียนไข ดังนั้นอเล็กซานไดร์ทจึงกักเอารังสีแสงสีแดงไว้ได้น้อยกว่า เมื่อส่องดูด้วยแสงไฟฟ้า
ปรากฏการณ์ทำนองนี้ ไม่เพียงแต่อเล็กซานไดร์ทอย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นก็มีเหมือนกัน เช่น คอรันดัมที่มีโครเมียมออกไซด์ผสมอยู่ด้วย 30% ก็เปลี่ยนสีได้เหมือนกัน กล่าวคือถ้าดูกลางวันจะเห็นเป็นสีเขียว แต่ถ้าดูกลางคืนโดยอาศัยแสงไฟ ก็จะเห็นเป็นสีดอกกุหลาบ ดังนี้เป็นต้น
เทอร์ควอยซ์ (Turquoise)
ชื่อของหินรัตนชาติชนิดนี้มาจากภาษาเปอร์เซีย คำว่า “ปิรุสเซ” บรรดาชาวตะวันออกนิยมรัตนชาติชนิดนี้กันมาก เทอร์ควอยซ์ – CuAl6 (PO4)(OH)8 5H2O ประกอบด้วย คอปเปอร์ออกไซด์ (CuO) 9.57%; อลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) 36.84% ฟอสฟอรัสเพนตะออกไซด์ (P2O5) 34.12% และน้ำ (H2O) อีก 19.47% เทอร์ควอยซ์ตามปกติเป็นสีฟ้าอ่อนแต่ที่ออกสีเขียวอ่อนๆ ก็มีพบบ่อยเหมือนกัน ที่ถือว่ามีค่ามากที่สุดนั้นต้องเป็นสีฟ้าอ่อน หรือสีฟ้าเข้ม และปราศจากเงาสีเขียว รวมทั้งต้องไม่มีจุดด่างดำอีกด้วย ในสมัยโบราณบรรดาชาวตะวันออกทั้งหลายถือว่าเทอร์ควอยซ์นี้เป็นรัตนชาติในทางโชคลางดี นอกจากนั้นบรรดาชาวอียิปต์ในสมัยโบราณยังถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย เช่น เอาไปทำเป็นพระแขวนสายสร้อยคล้องคอ และยังถือกันอีกว่า เทอร์ควอยซ์นี้ระงับความทะเลาะวิวาทระหว่างภรรยาหลวงกับภรรยาน้อยทั้งหลายได้ด้วย นอกจากนั้นแล้วยังใช้ป้องกันการตกม้าได้อีก และทั้งยังทำให้มีสายตาดีอีกด้วย ดังนี้เป็นต้น ตามเรื่องที่เล่าสืบต่อๆ กันมาแต่โบราณกาลว่า เทอร์ควอยซ์นี้เกิดจากกระดูกคนที่ตายด้วยความรัก นอกจากนั้นยังเชื่อกันอีกว่า ถ้าเอาแหวนเทอร์ควอยซ์ให้ผู้หญิงที่ชอบกันใส่ ผู้หญิงคนนั้นจะมีแต่ความสุขทั้งกาย และจิตใจ แต่ถ้าผู้หญิงคนนั้นเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมาเมื่อไร แหวนเทอร์ควอยซ์วงนั้นก็จะมัวหมองไปเลย และยังเชื่อกันอีกว่า ถ้าใครดูเทอร์ควอยซ์เสียตั้งแต่ตอนเช้า ก็สามารถอยู่ได้ตลอดทั้งวันโดยไม่มีการกังวลห่วงใยใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้แล้วยังเชื่อกันอีกว่า “ใครพกเทอร์ควอยซ์ติดตัวผู้นั้นจะมีอายุยืน สมกับความต้องการทีเดียว และจะไม่มีการฝันร้ายใดๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย”
เทอร์ควอยซ์ส่วนมากใช้ทำพลอย และในสมัยโบราณใช้ประดับประดาของเครื่องใช้ต่างๆ อีกด้วย เช่นเครื่องเรือน ด้ามมี และอื่นๆ อีกเป็นต้น
การเกิด สำหรับเทอร์ควอยซ์นั้น พบในหินอัคนีที่มีสิ่งต่อไปนี้มากๆ คือซิลิกา แร่อัลคาไลน์อะพาไทท์ และแร่อื่นที่มีทองแดงประกอบอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังพบในหินตะกอนที่อยู่ใกล้ๆ กับหินอัคนีอีกด้วยเช่นกัน
แหล่งเทอร์ควอยซ์ ที่สำคัญๆ นั้นอยู่ในสหภาพโซเวียต (ในเอเชียกลาง) และรวมทั้งในประเทศอิหร่าน และในอเมริกาด้วย
ยูเคลส (Euclase)
ชื่อของหินรัตนชาติชนิดนี้มาจากภาษากรีกคำว่า “เคลียซิส” ซึ่งแปลว่า “แตกร้าว” สำหรับยูเคลสใสๆ สีสวยๆ นั้น จัดว่าเป็นรัตนชาติอย่างดีชนิดที่ 1 ตามวิธีการจำแนกหินมีค่า และหินสีทีให้ไว้ในตอนต้น ความหมายของชื่อรัตนชาติชนิดนี้บ่งชัดแล้วว่าเป็นหินที่เปราะ และแตกร้าว ยูเคลสมีสูตรทางเคมีดังนี้ คือ Be2Al2(SiO4)2 (OH)2 ความแข็งเท่ากับ 7.5 และความถ่วงจำเพาะ 3.05-3.10 สำหรับยูเคลสนี้มีคุณสมบัติเป็น piezoelectric คือใช้ในกิจการวิทยุได้ และนอกจากนั้นแล้ว ยังแตกร่อนออกเป็นแผ่นได้ง่ายอีกด้วย เมื่อเอาค้อนค่อยๆเคาะ หรือเมื่อตกหลุดมือ แต่ว่าการแตกร่อนนี้ เป็นการแตกร่อนออกเป็นชั้นๆ และไม่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอีก ด้วยเหตุนี้ ยูเคลสจึงมักเรียกกันว่า หินเปราะ นอกจากนั้นยังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อะความารีนตะวันออก” ยูเคลสนี้มีความใส และเป็นเงาดีมาก ส่วนสีของยูเคลสนั้นเป็นได้ทั้ง สีน้ำเงิน ใสๆ ก็มีเหมือนกัน สำหรับยูเคลสสีน้ำเงินนั้น เป็นได้สองสี กล่าวคือมองดูในแนวหนึ่งจะเห็นเป็นสีน้ำเงินเข้ม แต่ถ้ามองดูอีกแนวหนึ่ง จะเห็นเป็นสีเขียวน้ำเงิน
ยูเคลสเป็นแร่รัตนชาติที่หายากมาก เพราะว่ามีน้อยมาก ในสหภาพโซเวียตพบยูเคลสเม็ดแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 โดย N.I. Doksharov เป็นคนพบที่เขาอูราล ในลุ่มแม่น้ำซาร์นากิ
แหล่งรัตนชาติชนิดนี้ที่นับว่าสำคัญๆ นั้นมีในสหภาพโซเวียต (เขาอูราล) ในประเทศบราซิล (จังหวัด Minas-Girais) และในประเทศอื่นๆ อีก ตามปกติพบยูเคลสใน placer deposits แต่ใน primary deposits ก็มีพบเหมือนกัน และเคยพบยูเคลสรวมกับโทแพสใน hydrothermal quartz veins อีกเช่นกัน