ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

รัตนชาติในกลุ่มการ์เนต (Garnet)

 

 

ploy


รัตนชาติในกลุ่มการ์เนต (Garnet)
ชื่อของแร่รัตนชาติในกลุ่มนี้มาจากภาษาลาติน คำว่า “granatus” ซึ่งแปลว่า “เหมือนสีเม็ดผลทับทิม” การ์เนตเป็นแร่กลุ่มใหญ่จำพวกนีโซซิลิเกต ซึ่งมีสูตรดังนี้ R2+ R3+ (SiO4) ในที่นี้ R2+ ได้แก่ธาตุต่อไปนี้คือ Mg, Fe2+, Mn2+, Ca ส่วน R3+ นั้นได้แก่ Al, Fe3+, Cr3+
แร่ต่างๆ ในกลุ่มการ์เนตนั้นมีดังต่อไปนี้ คือ pyrope, almandine, spessartine, grossular, andradite, uvarovite และ schorlomite
รูปร่างของผลึกส่วนมากเป็นแบบ rhombic dodecahedron สำหรับการ์เนตสีสวยๆ นำไปทำพลอยประเภท semi-preciuos stone (คือรัตนชาติที่มีราคาถูก) การ์เนตนั้นมีมากมายหลายสีด้วยกัน แต่ผลึกที่ปราศจากสีนั้นมีน้อย การใช้การ์เนตเป็นเครื่องประดับประดานั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว และในครั้งนั้น ได้กล่าวถึงคุณสมบัติอันวิเศษสุดของการ์เนตไว้ว่าทำให้คนมีความสุขใจสบายกาย ไล่ความทุกข์ และความเศร้าให้หมดสิ้นไป


ไพโรป (Pyrope)
ชื่อไพโรปนี้มาจากคำภาษากรีก – ปิโรปุส (piropus) ซึ่งแปลว่า “เหมือนไฟ” และไพโรปเป็นการ์เนตที่มีแมกนีเซียมอยู่ด้วย คือ Mg3Al2(SiO4) ตามปกติไพโรปมีสีแดงมืด แต่ที่เป็นสีชมพู และสีดำก็มีพบบ้างเหมือนกัน
ไพโรปนั้นเป็นเสมือนผู้ติดสอยห้อยตามเพชรอยู่ตลอดเวลา และเป็นตัวนำพาเราไปหา primary deposits ของเพชรอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นการบอกให้เราทราบอีกว่าในบริเวณนั้นเป็น diamond – bearing placer deposits ไพโรปเม้ดสีแดงๆ สังเกตเห็นได้ง่ายในขณะที่ร่อน หรือเรียงแร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่กำลังเปียกๆ

 

แอลมันดีน (Almandine)
สำหรับชื่อของรัตนชาติชนิดนี้ เรียกตามชื่อที่ตั้งของโรงงานเจียระไนแห่งหนึ่งคือแอลาบันด์ (Alaband) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ในประเทศอินเดีย และแอลมันดีนนี้เป็นการ์เนตชนิดที่มีเหล็กปนอยู่ด้วย คือ Fe3Al2(SiO4) สำหรับแอลมันดีนนี้อาจเป็นได้ทั้งสีแดง สีแดงน้ำตาล และสีดำ ซึ่งตามปกติจะพบอยู่ในหินชีสต์ ในหินเปกมาไทท์ และในหินแกรนิตบางอย่างด้วยเหมือนกัน

 

สเปสซาร์ทีน (Spessartine)
สำหรับชื่อของแร่รัตนชาติชนิดนี้เรียกตามชื่อสถานที่แห่งหนึ่ง คือ สเพสสาร์ด ซึ่งอยู่ในแคว้นบาวาเรียว ประเทศเยอรมันนี และเป็นการ์เนตชนิดที่มีแมงกานีสรวมอยู่ด้วยคือ Mn3Al2(SiO4) ซึ่งการ์เนตชนิดนี้มักจะพบในหินเปกมาไทท์ สำหรับสเปสซาร์ทีนนี้อาจเป็นได้ทั้งสีแดงมืด สีเหลืองส้ม และสีน้ำตาล ซึ่งตามปกติจะพบอยู่ในหินชีสต์ (metamorphic schist) แต่การ์เนตชนิดนี้เกิดที่อุณหภูมิต่ำกว่าบรรดาการ์เนตที่มีแมกนีเซียม และเหล็ก (คือ แอลมันดีน และไพโรป) นอกจากนั้นยังพบในหินเปกมาไทท์อีกด้วยเหมือนกัน

 

กรอสซูลาร์ (Grossular)
สำหรับชื่อของการ์เนตชนิดนี้ตั้งตามชื่อของต้นไม้เล็กๆ ชนิดหนึ่ง คือ grossularia ซึ่งมีใบสีเขียวจางๆ กรอสซูลาร์นี้เป็นการ์เนตชนิดที่มีแคลเซียมอยู่ด้วย นั่นคือ Ca3Al2(SiO4)3 สำหรับสีของบรรดาการ์เนตชนิดนี้ เป็นได้ทั้งสีเหลืองน้ำผึ้ง สีเขียวจางๆ สีน้ำตาล และสีแดง ซึ่งตามปกติจะพบในหินแปร (calcareous metamorphic rocks) และในหินสการ์น (Skarn) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงเอ็นโดคอนแทก (endocontact)

 

แอนดราไดท์ (Andradite)
สีของการ์เนตชนิดนี้อาจเป็นได้ทั้งสีเหลือง สีเขียว สีน้ำตาลแดง และแม้แต่สีดำ ก็มีด้วยเหมือนกัน ซึ่งตามปกติจะพบในหินสการ์น (skarn) โดยเฉพาะตรงเอกโซคอนแทก (exocontact) และแอนดราไดท์นี้เป็นการ์เนตชนิดที่มีแคลเซียม และเหล็กปนอยู่ด้วย คือ Ca3Fe2(SiO4)3 ผลึกแอนดราไดท์สีเขียวใสๆ เรียกว่า ดีมันทอยด์ (Demantoid) และนิยมเอาไปทำพลอยกันมาก

 

ยูวาโรไวท์ (Uvarovite)
ยูวาโรไวท์นี้เป็นการ์เนตชนิดหนึ่งที่มีแคลเซียม และโครเมียมรวมอยู่ด้วย คือ Ca3Cr2(SiO4)3 สำหรับสีนั้น มีทั้งสีมรกต และสีเขียวธรรมดา ซึ่งนับว่าเป็นแร่ที่สวยมากอย่างหนึ่ง แต่โอกาสที่จะพบแร่นี้นั้นน้อยเหลือเกิน บางทีพบอยู่ในแหล่งโครไมท์ ที่เป็นแบบไฮโดรเทอร์มาล (hydrothermal)

 

ชอร์โลไมท์ (Schorlomite)
การตั้งชื่อเช่นนี้ เพราะว่าการ์เนตชนิดที่กล่าวเหมือนกับชอล (Schorl) หรือเหมือนกับทัวมาลีนสีดำ ซึ่งชื่อการ์เนตนี้ มาจากภาษาสแกนดินีเวีย คำว่า skorl และชอร์โลไมท์ มีสูตรทางเคมีดังนี้ คือ Ca3(Fe, Ti)2[(Si, Ti) O4]3 โดยมี TiO2 อยู่ด้วยถึง 21.5% และพบอยู่ในหินแอลคาไลน์ (alkaline rocks) ซึ่งชอร์โลไมท์นี้เป็นของหายาก ตามปกติเราจะไม่ค่อยพบ