ph
line2
facebook
ph
line2
facebook

หยก JADE

 

yok


คำว่า หยก มาจากภาษาจีนแมนดารินออกเสียงว่า หยู หรือ ยู่ หมายถึง งดงามและทนทาน ในภาษาอังกฤษ ออกเสียงเป็น เจด (JADE) โดยทั่วไป หยก หมายถึงหินสีเขียวที่มีเนื้อใสถึงเกือบทึบแสง มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น หยกพม่า หยกอินเดีย หยกจีน หยกโมรา เป็นต้น ในทางอัญมณีศาสตร์ หยก หมายถึง หินที่ประกอบด้วยแร่เจดไดต์ (Jadeite) หรือ เนฟไฟรต์ (Nephrite) เป็นส่วนประกอบหลัก ถ้าประกอบด้วยแร่เจดไดต์ (Jadeite) เป็นหลัก เรียกว่า หยกเจดไดต์ (Jadeite Jade) เป็นหยกที่หายากและมีราคาแพงกว่าหยกเนฟไฟรต์ ที่เป็นหยกที่มีประกอบของแร่เนฟไฟรต์ เป็นหลัก แต่ในการซื้อขายถือว่าหยกทั้งสองชนิดนี้เป็นหยกแท้

 หยกจัดเป็นหิน เพราะไม่ได้เกิดเป็นผลึกเดี่ยว ประกอบด้วยผลึกแร่ขนาดจุลภาค(Cryptocrystalline) มารวมตัวกันแน่น เมื่อขยายดูเนื้อหยกด้วยกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเนื้อหยกเจดไดต์เป็นแบบมวลเม็ดอัดแน่น ส่วนเนื้อหยกเนฟไฟรต์เป็นแบบเส้นใยสานกันแน่น ดังนั้นหยกเนฟไฟรต์จึงเหนียวกว่าหยกเจดไดต์ กล่าวได้ว่า หยกแข็งกว่าหินและเหนียวกว่าเหล็ก หยกมีเนื้อไม่โปร่งใสอย่างเช่นพลอยทั่วไป แต่มีเนื้อเหนียวกว่า ไม่เปราะแตกง่ายเมื่อเทียบกับพลอยเนื้อใสที่เป็นผลึกเดี่ยว

หยกเจดไดต์ (Jadeite Jade)
                หยกเจดไดต์ เป็นหยกที่มีเนื้อใสกว่าหยกเนฟไฟรต์ พบเพียงไม่กี่แห่งทั่วโลก เป็นหยกที่มีราคาสูงกว่าหยกชนิดอื่น ส่วนใหญ่หยกเจดไดต์ ที่มีคุณภาพดี จะได้มาจากประเทศพม่า ในการซื้อขายจึงมักเรียกหยกเจดไดต์ ว่าหยกพม่า (Burmese jade)

ตระกูลแร่
หยกเจดไดต์  เป็นแร่ในกลุ่มไพร็อคซีน โครงสร้างผลึกอยู่ระบบหนึ่งแกนเอียง (Monoclinic system) แต่มักไม่เกิดเป็นผลึกเดี่ยว จะเกิดเป็นจุลภาคอัดรวมกันเป็นแบบมวลเม็ด

คุณสมบัติทั่วไป
อันดับความแข็ง 8.5-7 โมห์สเกล ค่าดัชนีหักเห 1.66 ค่าความถ่วงจำเพาะ 3.3

คุณสมบัติเฉพาะตัว
                หยกเจดไดต์มีเนื้อใสกว่าและมีหลากหลายสีกว่าหยกเนฟไฟรต์  เช่น สีเขียว สีม่วง สีน้ำตาล สีเหลือง สีของหยกเจดไดต์ มาจากธาตุโลหะที่แทรกอยู่ในโครงสร้าง ถ้าไม่มีธาตุโลหะหรือเป็นเจดไดต์บริษุทธิ์จะมีสีขาวและเนื้อใส ธาตุโลหะที่ทำให้เกิดสีในหยกเจดไดต์ ได้แก่
                ธาตุโครเมี่ยม ให้สีขาว
                ธาตุเหล็ก ให้สีเหลือง น้ำตาล ถึงส้ม
                ธาตุแมงกานีส ให้สีชมพูและม่วงน้ำตาล
หยกเจดไดต์ ที่ซื้อขายกันในตลาดมีชื่อเรียกต่างกันตามชนิดสีและความใสของเนื้อหยก ดังนี้
               
 หยกจักรพรรดิ (Imperial jade) เป็นหยกที่มีคุณภาพดีที่สุด มีสีเขียวปานกลางถึงเขียวเข้ม สีกระจายเรียบสม่ำเสมอทั้งเม็ด กึ่งโปร่งใสจนมองทะลุไปถึงด้านหลัง
                
หยกยูนนาน (Yunan jade) มีสีเขียวเข้ม กึ่งโปร่งแสงจนเกือบทึบแสง จึงมักเจียระไรเป็นแผ่นบางๆ มีแหล่งอยู่ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
               
 หยกลาเวนเดอร์ (Lavender jade) เป็นหยกที่มีสีม่วงอ่อน เนื่อกึ่งโปร่งใสถึงโปร่งใส
               
 หยกลายมอสในหิมะ (Moss in snow jade) เป็นหยกสีขาวเนื้อโปร่งแสงถึงเกือบทึบแสง มีสีเขียวอยู่ประปรายเป็นหย่อมๆ คล้อยต้นมอสขึ้นบนหิมะ
                
หยกกระดูกไก่ (Chicken-bone jade) เป็นหยกเนื้อทึบ มีสีขาวถึงสีเทาคล้ายกระดูกไก่
                
หยกลายทองคำ (Galactic gold jade) เป็นหยกที่มีเนื้อสีดำและสีทองประปรายอยู่ในเนื้อ สีทองคำมาจากผลึกแร่ไพไรต์ส่วนสีดำของเนื้อหยกคงเนื่องจากมีมลทินเหล็กปนอยู่มาก

ความเชื่อ
                ชาวจีนยึดถือหยกเป็นสมบัติประจำตระกูล หยกได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับและทำเป็นเครื่องรางของขลัง       

การดูแลรักษา
                หลีกเลี่ยงการถูกเปลวไฟความร้อนสูงเพราะหลอมได้ หลีกเลี่ยงการถูกกรดและสารเคมีใดๆ เพราะ อาจทำปฎิกิริยาอย่างอ่อนๆได้
 
การปรับปรุงคุณภาพเพชร
                การปรับปรุงคุณภาพหยก มี 3 วิธี ได้แก่ 

การย้อมสี ก่อนนำไปย้อมสีมักนำหยกไปกัดผิวหรือผ่านการอบให้ร้อนก่อน เพื่อให้สีย้อมซึมเข้าเนื้อหยกได้มากขึ้น

การอุดด้วยสารไร้สี สารไร้สีที่นิยมคือ พาราฟิน ใช้อุดตามรอยแตกทำให้เนื้อใสและเนียนขึ้น

การเผา โดยนำหยกที่มีมลทินสีเหลือง หรือสีน้ำตาลมาเผาเพื่อให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง
 
การสังเคราะห์
                ยังไม่พบหยกสังเคราะห์

อัญณีเทียบเคียง
                มีหลายชนิดได้แก่ อะเวนจูรีนควอตซ์ (Aventurine quartz) คริสโซเพรส (Crysoprase) หินควอตไซต์ย้อมสี (Dye green quartzite) กรอสซูล่าสีเขียว (Green grossular) เซอร์เพนที (Serpentine) หินอ่อนย้อมสี (Dyed marble) พลาสติกและแก้วสีเขียว (Green colored plastic and glass) เมา-ซิท-ซิท (Maw-sit-sit) และซอสซูไรต์ (Saussurite)

การตรวจสอบ
                อะเวนจูรีนควอตซ์ เป็นหินชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยมวลเม็ดแร่ควอตซ์อัดกันแน่น เรียกว่าหินควอต์ซ์ไซต์ ส่วนคำว่าอะเวนจูรี่ หมายถึง ประกายระยิบระยับ โดยทั่วไปแล้ว หินควอตไซต์ มีโทนสีขาว การที่มีสีเขียว เพราะมีแผ่นแร่ไมกาฟุชไซต์ กระจายอยู่ในเนื้อหิน อะเวนจูรีนควอตซ์ มีลักษณะคล้ายกับหยกเนฟไฟรต์มาก บางทีเรียกว่า หยกอินเดีย
               
ควอตไซต์ย้อมสี เป็นหินที่มีโทนสีขาวและเนื้อค่อนข้างใส จึงมีการนำเอาหินควอตไซต์มาอัดด้วยเรซินสีเขียว โดยให้เรซินไหลซึมเข้าไปในรอยแตกหรือช่องว่างระหว่างเม็ดควอตซ์ ทำให้เนื้อหินเป็นสีเขียวสด เนื้อใสคล้ายกับหยกพม่าเนื้อดี สีเขียวจากเรซินไม่ละลายน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ สีเขียวอาจค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นสีเขียวน้ำตาล  เนื่องจากเมื่อเรซินเสื่อมสภาพ เรซินจะกลายเป็นสีเหลืองและเมื่อปนกับสีเขียวจะกลายเป็นสีน้ำตาลให้สังเกตอย่างง่ายๆ ว่าสีเขียวมักเข้มมากตามรอยแตกหรือตามเม็ดแร่เท่านั้น และจะเห็นได้ชัดขึ้น ถ้าให้แสงสว่างส่องผ่านก้อนยาก
              
  คริสโซเพรส เป็นแร่ในกลุ่มแคลซิโดนี (Chalcedony) ซึ่งเป็นตระกูลแร่ควอตซ์ชนิดมหจุลภาค ส่วนใหญ่มีสีเขียวแอปเปิ้ล เขียวอมเหลือง ถึงเขียวปนน้ำตาล สีเขียวเกิดจากธาตุนิเกิลที่แทรกอยู่ตามผลึกแร่ บางทีเรียกหยกโมรา คริสโซเพรส ได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น เพราะมีสีเขียวนวลค่อนข้างสม่ำเมสอและเนื้อแข็งกว่าหยกเจดไดต์และหยกเนฟไฟรต์ ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่ส่งออกคริสโซเพรสที่มีคุณภาพดีเป็นที่รู้จักกัน ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า หยกออสเตรเลีย
              
  กรอสซูล่าสีเขียว เป็นแร่ที่อยู่ในตระกูลการ์เนต มีหลายสีรวมถึงสีเขียวที่คล้ายคลึงหยก จนได้ชื่อว่า หยกทรานส์วาล (Transvaal jade) แต่หยกชนิดนี้มักมีมลทินสีดำปนอยู่ ในการแยกหยกกรอสซูล่าออกจากหยกเนฟไฟรต์และเจดไดต์ให้สังเกตจากน้ำหนัก กรอสซูล่าจะหนักกว่า และมีค่าดัชนีหักเหสูงกว่าหยกเจดไดต์และหยกเนฟไฟรต์อย่างชัดเจน
               
แก้วและพลาสติก ทำออกมาเลียนหยกธรรมชาติ มีมากมายในท้องตลาดแต่สามารถแยกออกจากหยกธรรมชาติได้อย่างชัดเจน สังเกตว่าหยดพลาสติกมีน้ำหนักเบาผิดปกติและมีฟองอากาศอยู่มาก อาจเห็นสีเขียวค่อนอยู่เป็นจุดๆ อีกชนิดหนึ่งคือ หยกเทียมที่ทำจากแก้วหลอมใส่สารสีเขียว มีลักษณะคล้ายหยกธรรมชาติมากกว่า แต่ให้สังเกตฟองอากาศ อาจต้องใช้เลนส์ขยาย วิธีสังเกตอีกวิธีหนึ่งคือ หยกเทียมที่ทำด้วยแก้วและพลาสติกมักให้รสสัมผัสที่ “อุ่น” กว่าหยกแท้ เพราะเนื้อหยกแท้จะประกอบด้วยผลึกแร่ที่อัดกันเป็นมวลเม็ด ผลึกมีคุณสมบัติที่นำความร้อนได้ดีกว่าเนื้อแก้วหรือพลาสติกที่เนื้อไม่เป็นสารผลึก (อสัณฐาน) ดังนั้น หยกแท้จึงให้สัมผัสที่เย็นกว่า